IoT (Internet of Things) - การนำมาใช้อ่านค่า Smart Solution ต่างๆ (ตอนที่ 1)
Internet of Things (IoT), LoRaWAN, NBIoT คำศัพท์เหล่านี้หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันมาสักระยะนึงแล้ว ตั้งแต่ยุคอินเตอร์เน็ตรุ่งเรืองและเข้ามาเป็นส่วนนึงของชีวิตของเรา ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลก จนกระทั่งในระยะเวลา 10 ปีมานี้ความเร็วของ Internet ได้พัฒนาไปมาก จนเราสามารถคุยกันข้ามโลกได้แบบเห็นภาพและเสียงเหมือนอยู่ต่อหน้ากัน นับว่าเป็นสิ่งที่สุดยอดมากในปัจจุบัน เมื่อความเร็วอินเตอร์เน็ตมาถึงจุดที่เราสามารถส่งข้อมูลได้ครั้งละมากๆ, เชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลายตัวในเวลาเดียวกัน และรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้ตลอดเวลา แนวคิด Internet of Things ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นครับ
โดยแนวทางการออกแบบ Internet of things นี้เป็นแนวคิดการเชื่อมโยงอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตหลากหลายๆ ชนิดเข้ามาอยู่ในระบบเครือข่ายเดียวกัน เพื่อการควบคุม สั่งการ และ ดูข้อมูลของอุปกรณ์เหล่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวกัน นี่คือแนวคิดการเชื่อมโลก เชื่อมเมือง เชื่อมอุปกรณ์ต่างๆที่ใหญ่มาก จนทำให้เกิด Solution ตามมามากมาย ได้แก่ Smart City, Smart Building, Smart Farming, Smart Home, Smart Transportations, Smart Factory, Smart Health และอื่นๆอีกมากมาย
วันนี้เราจะมาพูดถึง Solution ที่เป็น Smart City และ Smart Building กันครับ
สำหรับอาคารและเมืองนั้น หลักๆ ที่มีการนำแนวคิด Internet of things มาใช้งานจะเป็นในส่วนของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น อุปกรณ์วัดน้ำ วัดไฟ วัดอากาศ ระบบแอร์ เป็นต้น โดยในประเทศไทยนั้นได้เริ่มจากการใช้งาน Smart Device อย่าง มิเตอร์ไฟ และ มิเตอร์น้ำครับ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่กระจายการติดตั้งภายในอาคารและชุมชน อีกทั้งยังมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับอุปกรณ์อื่นๆในระบบสาธารณูปโภค ปัจจุบันมีการนำหลักการ Internet of things เข้ามาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อการเก็บข้อมูล และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจดปริมาตร การแจ้งเตือน การบันทึกข้อมูลต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดการดังกล่าว โดยบริษัทที่เป็นผู้นำด้านการสื่อสารระดับโลกได้พัฒนารูปแบบการสื่อสารมาสำหรับใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ หลากหลายประเภทรวมถึง มิเตอร์น้ำและมิเตอร์ไฟด้วยเช่นกัน ซึ่งรูปแบบการสื่อสารที่ว่านี้ มี 2 เทคโนโลยีหลักๆ ได้แก่
1.LoRA (Long Range Wide Network) เป็นระบบการสื่อสาร ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท LoRa Alliance ได้แก่ Actility Cisco Eolane IBM Kerlink IMST MultiTech Sagemcom Semtech และ Microchip Technology รวมไปถึงผู้ให้บริการระบบโทรคมนาคมชั้นนำอย่าง Bouygues Telecom KPN SingTel Proximus Swisscom และ FastNet (เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Telkom South Africa)
LoRa หรือ LoRaWAN คือเครือข่ายสื่อสารที่ส่งข้อมูลกำลังต่ำแบบไร้สายด้วยคลื่นสัญญาณวิทยุ และ เป็นระบบเครือข่ายที่สามารถส่งสัญญาณทางไกลได้ LoRaWAN ถูกออกแบบขึ้นเพื่อรองรับกับสัญญาณในระดับที่ต่ำมาก และจะได้มาซึ่งการส่งผ่านสัญญาณกำลังต่ำในระยะทางที่ต้องการ ด้วยระบบการปรับสัญญาณและอินเตอร์เฟสในรูปแบบวิทยุของ LoRaWAN นี้ทำให้ได้มาซึ่งรูปแบบการสื่อสารตามที่ต้องการมากที่สุดในการนำไปใช้กับตลาด IoT
คุณสมบัติเด่นของเทคโนโลยีระบบ LoRaWAN
องค์ประกอบสำคัญต่างๆของเทคโนโลยีระบบ LoRa มีดังต่อไปนี้:
สื่อสารทางไกลในระยะ: 10 – 20 ก.ม.
มีช่องรับสัญญาณในการสื่อสาร : นับล้านช่องสัญญาณ
มีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ยาวนาน: ยาวนานกว่า 10 ปี
2.NB-IoT ย่อมาจาก Narrowband IoT ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบโครงข่ายที่ใช้พลังงานต่ำอีกแบบนึง ที่ถูกพัฒนาควบคู่กันมากับเทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์ มือถือไร้สาย ในปัจจุบัน เมื่อความเร็วในการส่งข้อมูลสูงขึ้น ตั้งแต่ยุค 3G, 4G, และปัจจุบันจะก้าวมาสู่ยุค 5G แนวคิดการนำระบบ Cellularมาเพื่อให้ อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อเข้าหากันได้โดยผ่านโครงข่ายของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ